โครงการรณรงค์ความรู้ทางกฎหมาย “ไม่จำหน่ายสลากฯแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20ปี”


โครงการรณรงค์ความรู้ทางกฎหมาย “ไม่จำหน่ายสลากฯแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20ปี”
วันที่โพสต์ : 2022-06-13
สนง.สลากฯ เอาจริงนำร่องจุดขายล็อตเตอรี่ กทม.-นนทบุรี ไม่ขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ฝ่าฝืนปรับ 1 หมื่นบาท ด้าน “ตัวแทนเยาวชน” วอนทำจริง “ช่วยกันปกป้องเด็กและเยาวชน”

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ร่วมกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน  แถลงข่าว ไม่จำหน่ายสลากฯ ให้แก่บุคคลอายุต่ำหว่า 20 ปี” หลังพบข้อมูลว่ามีผู้ค้าสลากไม่สนกฎหมาย ขายให้เด็กกว่า 7 แสนคน

พันโทหนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า สำนักงานสลากฯ ตระหนักในความสำคัญของการปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนัน ในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ฉบับที่ 2  พ.ศ.2562 จึงได้มีการกำหนดมาตรา 39/1 ห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในสถานศึกษา และมาตรา 39/2 ห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ดังนั้น เพื่อให้เกิดรูปธรรมในทางปฏิบัติ สำนักงานสลากฯ จึงได้ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม รณรงค์ให้สังคมเกิดความเข้าใจร่วมกัน  โดยกำชับผู้ค้าสลากทุกราย ให้เคร่งครัดไม่ขายสลากแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ให้มีการโดยมีการติดสติกเกอร์มีภาพการ์ตูน “น้องเตือนใจ” และข้อความ “ต่ำกว่า 20 ปีไม่ขาย” นำร่องที่จุดจำหน่ายสลากฯ 80 บาท 129 จุดในกรุงเทพฯ และนนทบุรี  และจะขยายไปยังจุดจำหน่ายสลากฯ 80 บาท ทั่วประเทศ ภายใน 1 ปี

“จากนี้ไป จะเริ่มเห็นจุดจำหน่ายสลากมีป้ายข้อความลักษณะเป็นป้ายตั้งโต๊ะ หรือสติ๊กเกอร์ที่มีภาพการ์ตูน “น้องเตือนใจ” และข้อความ “ต่ำกว่า 20 ปีไม่ขาย”  โดยเป็นการขอความร่วมมือในการรณรงค์จากผู้ค้า ร่วมทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน  และจะร่วมมือกับเครือข่ายเด็กและเยาวชนในการเฝ้าระวังไม่ให้มีการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้แก่บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี ฉะนั้น หากผู้ค้าไม่แน่ใจเกรงว่าจะกระทำผิด ก็ขอให้เช็คจากบัตรประชาชนของผู้มาซื้อสลากฯ ก่อน” ผุ้อำนวยการสำนักงานสลากฯ กล่าว

ด้าน นางสาววรรณิกา ธุสาวุฒิ ตัวแทนเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ตนไม่รู้เลยว่ามีกฎหมายห้ามขายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีมาก่อน เพราะที่ผ่านมาเห็นได้โดยทั่วไปว่าแม้จะเป็นเด็กก็สามารถเดินไปซื้อสลากฯ ตามร้านโดยไม่ถูกถามอายุ แต่ในระยะหลัง ตนได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับพี่ๆ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน ทำให้ทราบว่ามีกฎหมายนี้อยู่ รู้ว่าสลากฯ เป็นการพนันชนิดหนึ่ง ดังนั้นตนเองในฐานะคนที่ช่วยผลักดันเรื่องการหยุดพนันมาตลอด จึงเห็นว่าไม่ใช่สิ่งที่เด็กจะซื้อได้ แม้สลากฯ จะเป็นสิ่งถูกกฎหมายของรัฐก็ตาม อย่างไรก็ตาม หลายคนมักยึดโยงการพนันว่าเป็นความโชคดี ซึ่งควรจะมีการสื่อสารปรับเปลี่ยนวิธีคิดนี้ เด็กต้องรู้ตัวเองว่าไม่มีสิทธิซื้อสลาก ผู้ปกครองต้องรู้ว่าไม่มีสิทธิใช้เด็กไปซื้อสลาก และผู้ขายต้องรู้ว่าไม่สามารถขายให้เด็กต่ำกว่า 20 ปี ได้ ซึ่งเชื่อว่าผู้ค้าจำนวนมากที่ยังไม่รู้ข้อกฎหมายนี้ ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายชัดเจนแล้ว หลักปฏิบัติก็ต้องชัดเจนด้วย อาจจะเพิ่มการอบรมผู้ค้าให้มีการสอบถามอายุของผู้ซื้อหรือใช้วิธีอื่นๆ ในกรคัดกรองเด็กไม่ให้ซื้อสลากก็ได้

นายธนากร  คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า จากผลสำรวจสถานการณ์และปัญหาการพนันในสังคมไทย ปี 2564 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 7 แสนคนซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล  ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เป็นจริง จึงต้องร่วมกันรณรงค์ให้ทุกฝ่ายได้รับรู้และปฏิบัติอย่างจริงจัง   เพราะการปกป้องเด็กจากปัจจัยเสี่ยงทั้งปวง เช่น เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด อุบัติเหตุ รวมถึงการพนัน เป็นหน้าที่ของทุกคน   ปัจจุบันเด็กและเยาวชนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจำนวนมาก โดยขาดแหล่งให้ความช่วยเหลือที่เข้าถึง    กรณีตัวอย่างของน้องโบนัส เด็กหญิงวัย 14 ปีที่จังหวัดพัทลุง เป็นตัวอย่างหนึ่งของเด็กเยาวชนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและต้องการความช่วยเหลือ  เพราะได้รับผลกระทบหลายด้าน ทั้งพ่อแม่แยกทาง แม่ติดพนัน ขาดผู้ส่งเสียให้เรียนต่อ  เด็กหาที่พึ่งไม่ได้จนคิดสั้นฆ่าตัวตาย    โบนัสเป็นกรณีหนึ่งเท่านั้น ยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนไม่น้อยที่อาจเผชิญชะตากรรมนี้   ตัวเลขของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ฉายภาพว่าเด็กนักเรียนในช่วงรอยต่อจากชั้นประถมปลายขึ้นมัธยม หรือจากมัธยมต้นต่อมัธยมปลาย จะหลุดออกไปจากระบบการศึกษาปีละกว่า 4 หมื่นคน   สังคมควรตระหนักในปัญหานี้   และช่วยเหลือพวกเขาไม่ว่าในด้านใดก็ตาม  หากช่วยอย่างอื่นไม่ได้ อย่างน้อยที่สุด คือช่วยรับฟังปัญหาของพวกเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจ  ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่จริง ๆ แล้วไม่ค่อยมีใครฟังเด็ก ๆ ที่กำลังอยู่ในความทุกข์ยากเท่าไร    ภาคประชาสังคมน่าจะร่วมกันตั้ง “กองทุนเพื่อนโบนัส” เพื่อส่งเสริมทักษะการฟังเชิงลึกในสังคม ให้มีเพื่อนผู้พร้อมฟังให้มาก ๆ และช่วยส่งต่อเด็กเยาวชนเหล่านี้ให้ถึงมือของผู้ให้ความช่วยเหลือที่มีอยู่ไม่น้อยในสังคมแต่เด็กเหล่านี้เขาไม่ถึง”

////////////